วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

Life of Pi ด้วยความเชื่อและศรัทธา


























ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องใหม่ของหลี่อัน(อั้งลี่) ผู้กำกับสายเลือดเอเชียคนแรกที่ได้ออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Brokeback Mountain

"ฟิน" เป็นคำที่ได้ยินมานานจากเพื่อนหลายๆคนที่ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ จากที่เคยดูผลงานก่อนๆของหลี่อัน จึงรู้สึกได้ว่าเพื่อที่จะผ่านปี2012ไปอย่างสมบูรณ์แบบ ต้องตีตั๋วเข้าไปดูLife Of Piเสียก่อน 

คราวนี้หลี่อันนำเสนอLife of Pi จากนวนิยายของ Yaan Martel เรื่องราวของชายชาวอินเดียที่ผ่านช่วงวัยรุ่นมาด้วยการติดเกาะกับเสือเบงกอลที่ไม่เคยมองว่าถูกชะตากันมาก่อน

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นคำบอกเล่าของPi ชายชาวอินเดียผู้ต้องการให้นักเขียนอเมริกันเขียนเรื่องราวของเขา เขาจึงเริ่มเล่าความทรงจำที่ไม่อาจลืมได้ของเขาให้ฟัง
เริ่มตั้งแต่ที่เขายังเป็น "Piscine Patel" เด็กชายชาวอินเดียที่อาศัยอยู่กับพ่อ แม่ และพี่ชาย ครอบครัวPatelดูไม่แตกต่างไปจากครอบครัวอื่นๆในอินเดียเลย บ้านPatelทำกิจการสวนสัตว์ ชื่อPiscineที่มาจากชื่อสระน้ำในฝรั่งเศส แต่การออกเสียงดันไปพ้องกับคำว่า"Pissing" ที่แปลว่าปัสสาวะ เขาจึงถูกเพื่อนล้อมาตลอด หากเป็นเด็กธรรมดาคงจะอับอายแล้ววิ่งกลับบ้านไปฟ้องแม่ แต่Piscineไม่ทำเช่นนั้น เขาเลือกนำเสนอชื่อของเขาในรูปแบบที่น่าจดจำ โดยเอาอักษรสองตัวแรกมาตีความหมาย ซึ่งยึดหลักของความหมายทางคณิตศาสตร์ที่น่าพิศวง ตั้งแต่นั้นมาชื่อของเขาจึงถูกเรียกโดยย่อว่า"Pi"

สิ่งหนึ่งที่พายมีต่างจากคนทั่วไปคือการนับถือถึง3ศาสนา ได้แก่ คริสต์ อิสลาม และฮินดู แม้ทั้งสามจะมีพระเจ้าที่แตกต่างกันไป และมีพิธีกรรมของตนเอง แต่สิ่งที่ทุกศาสนาสอนเหมือนกัน นั่นคือ "สอนให้คนทำดี"

ชีวิตของPiมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อครอบครัวของเขาและเหล่าสัตว์ต้องย้ายสำมะโนครัวไปที่โทรอนโท พวกเขาเดินทางโดยเรือ ระหว่างทางพบพายุฝนจากนั้นเรือจึงอับปางลง ลูกเรือทั้งหมดรวมถึงครอบครัวของPiเสียชีวิต มีแค่Piที่ออกมาจากห้องนอนจึงเอาชีวิตรอดมาได้พร้อมเรือชูชีพและสัตว์เพียงไม่กี่ตัว ได้แก่ม้าลาย ไฮยีนา ลิงชิมแปนซี และเสือเบงกอล

แต่ผู้รอดชีวิตได้ถึงวันต่อมากลับมีแค่เขาที่เป็นมนุษย์และเสือเบงกอลที่มีนามว่า "Richard Parker"

การต้องติดอยู่บนเรือชูชีพท่ามกลางมหาสมุทรกับเสือที่ไม่ถูกชะตาด้วยมาตั้งแต่ต้นมันเป็นอะไรที่อึดอัดมาก เพราะมันพร้อมที่จะฆ่าเขาได้ทุกเมื่อ โชคยังดีที่เขามีคู่มือสอนเมื่อเรืออับปางคอยสอนถึงวิธีใช้ชีวิตทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่รอดมาได้
อุปสรรคเพียงอย่างเดียวนั่นคือ Richard Parker เจ้าเสือที่คอยขู่ทำร้ายเขาอยู่บนเรือนั่นแหละ ทำให้เขาต้องยกเรือให้กับRichard
ที่จริงเขาจะทิ้งมันลงน้ำแล้วเอาตะขอฟาดๆๆๆมันจนตายก็ย่อมได้ มีหลายครั้งที่เขาตั้งใจจะฆ่ามัน แต่บางอย่างในใจก็บอกเขาให้หยุดแล้วช่วยเหลือมันทุกครั้ง จนในที่สุดคนกับสัตว์ก็สื่อสารกันได้ PiกับRichardจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมทางกัน

หนังบอกเราถึงความกลัว ความกลัวว่าจะไม่รอด ความกลัวในสิ่งที่ยังไม่เจอ ความกลัวในความดุร้าย มันเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า "จะผ่านความกลัวได้จะต้องสู้ แล้วจะสู้หรือเปล่า?"

ไม่ว่าPiจะมีชีวิตรอดทุกวันได้เพราะไหวพริบของPiเอง หรือเป็นมือของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็นคอยช่วยเหลือPiในยามลำบาก ในหลายๆครั้งที่ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะไม่รอดชีวิตแล้วก็ตาม มันก็คงเป็นศรัทธาที่เราสร้างขึ้นเพื่อให้เราใช้กำจัดความกลัว จนสุดท้ายความกลัวนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป แต่กลับกลายมาเป็นเพื่อนกับเรา

ระหว่างทางบนมหาสมุทรที่กว้างใหญ่เขาได้พบกับสิ่งที่น่าทึ่งบนผืนน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปลาวาฬยักษ์ แมงกระพรุนสะท้อนแสง ฝูงปลาบินได้ และเกาะเมียร์แคท ที่ไม่อาจพบได้บนแผ่นดินธรรมดา ซึ่งเจ้าพวกนี้ก่อเป็นความหวังให้Piมีชีวิตอยู่ต่อไป สุดท้ายแล้วPiได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตบนแผ่นดินอีกครั้ง ในขณะที่เจ้าเสือเบงกอลที่กลายมาเป็นเพื่อนรักของเขาเดินหน้าเข้าป่าไปโดยที่เขาไม่เห็นอีกเลย

เมื่อเขากลับมาพักฟื้นที่โรงพยาบาลแล้ว นายทุนชาวญี่ปุ่นเดินทางมาพบเขาด้วยตัวเอง เพื่อต้องการทราบสาเหตุที่เรือจม ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ทราบเช่นกัน เขาเล่าเรื่องเดียวกันนี้ให้ชาวญี่ปุ่นฟัง ชาวญี่ปุ่นกลับไม่เชื่อเขา และบอกว่า นี่คือสิ่งที่Piจินตนาการขึ้นเอง Piจึงเล่าอีกเรื่องหนึ่งให้ฟัง โดยปรับเปลี่ยนตัวละครทั้งหมดเป็นคนและเนื้อหาของเรื่องอยู่บนเรียลลิสต์ติก แต่เรื่องที่เล่าใหม่นี้ก็ยังคงไม่ทราบสาเหตุที่เรือจมอยู่ดี

เพราะเรื่องแรกที่เต็มไปด้วยสัตว์ทั้งหลายมันดูเหลือเชื่อ ไม่น่าเกิดขึ้นได้ และPiยังเอาแต่ขอบคุณพระเจ้าเสียขนาดนั้น คนที่ไม่ได้เชื่อในพระเจ้าจึงดูไม่อยากจะเชื่อสักเท่าไหร่

แน่นอนว่าชาวญี่ปุ่นเชื่อเรื่องที่Piเล่าให้ฟังใหม่ ส่วนนักเขียนฝรั่งที่กำลังฟังPiเล่าอยู่นั้นกลับเลือกเรื่องแรกที่มีเสือ เราสามารถตีความเรื่องนี้ได้ว่า ความเชื่อใสเรื่องพระเจ้าของชาวตะวันตกและตะวันออกนั้นแตกต่างกัน ดูได้จากศาสนาประจำชาติและขนบที่ยึดถือมานานของทั้งคู่ ชาวญี่ปุ่นนั้นเชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่บนหลักของวิทยาศาสตร์และความเป็นไปได้ ส่วนชาวตะวันตกเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และช่วยเหลือในการดำเนินชีวิต ดูได้จากประโยคสุดทายที่Piพูดหลังจากถามนักเขียนฝรั่งว่าชอบเรื่องไหนมากกว่า ว่า "และเพราะว่าเรื่องนี้มีพระเจ้า"

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว เราไม่อาจทราบได้ว่า เรื่องที่Piเล่าเรื่องใดคือเรื่องจริง หรืออาจไม่จริงทั้งคู่ แต่สิ่งที่หนังยังบอกเราจนท้ายเรื่องคือ ชีวิตนี้อย่างไรก็มีทางออก ขอแค่ไม่หมดหวังและยังมีไว้ซึ่งศรัทธา

นอกจากเนื้อเรื่องที่สุดน่าทึ่งแล้ว สิ่งที่หลี่อันทำให้เราไม่เบื่อเลยตลอดสองชั่วโมงที่อยู่ในโรงหนังนั่นคือ ภาพซีจีสวยๆที่ประณีตผลิตออกมาให้เราได้ชมกัน ทั้งภาพปลาบินได้ แมงกระพรุนเรืองแสง ฯลฯ ต้องบอกว่า เรื่องนี้มีภาพประกอบสวยมากจริงๆ


ป.ล ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว