วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

วิเคราะห์ : เหตุผลที่พาพี่มาก...พระโขนง ประสบความสำเร็จ


ภาพยนตร์สุดฮอตเรื่องใหม่จากฝีมือผู้กำกับคุณภาพอย่าง "บรรจง ปิสัญธนะกูล" จากภาพยนตร์ยอดนิยมอย่าง "ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ" , "กวน มึน โฮ" , "แฝด" และล่าสุดกับ"พี่มาก...พระโขนง" ที่ได้ทำปรากฏการณ์ภาพยนตร์ไทยที่มีรายรับในประเทศทะลุสี่ร้อยล้านบาทไปเรียบร้อย ซึ่งตามความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีภาพยนตร์ที่สามารถทำรายรับได้เกินหนึ่งร้อยล้าน แต่พี่มากพระโขนงนั้นได้กลายเป็น1ใน5เรื่องของภาพยนตร์ไทยที่สามารถทำรายรับในประเทศได้เกินสองร้อยล้านบาท
สำหรับพี่มาก...พระโขนงนี้ ได้หยิบเอาเรื่องราวตำนานความรักของ "แม่นาค" มาตีความในมุมมองของ "นายมาก" ชายผู้เป็นสามีของแม่นาค ผ่านความเป็นดราม่าคอมเมดี้ของตัวภาพยนตร์

หากถามว่า ทำไมภาพยนตร์ "พี่มาก...พระโขนง" จึงประสบความสำเร็จได้ถึงขนาดที่เรียกได้ว่า "เทน้ำเทท่า"เช่นนี้ เราคงมองได้ถึงหลายองค์ประกอบที่ช่วยส่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ยอดรายรับที่บินทะลุเป้า

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความนิยมในผู้กำกับที่มีชื่อจากภาพยนตร์ดังหลายเรื่องก่อนหน้านี้ บวกกับการเขียนบทของ"เต๋อ ฉันทวิชช์ ธนะเสวี" ที่มีเครดิตจาก"กวน มึน โฮ" มาก่อน

อีกเรื่อง คือตำนานความเป็นอมตะอยู่คู่กับคนไทยมานานของ "แม่นาคพระโขนง" ที่ถูกเล่าขานกันปากต่อปาก ถึงความน่ากลัวและความมั่นคงในความรักของแม่นาค จนมีผู้นำมาทำเป็นภาพยนตร์ ละครทีวี และละครเวทีอยู่หลายต่อหลายครั้ง เรียกได้ว่าแทบทุกปีจะต้องมีเรื่องราวของแม่นาคมาสร้างใหม่ให้เราได้ชมกันอยู่ตลอด และยังได้รับความสนใจจากผู้ชมมากมายทุกๆครั้ง จึงไม่แปลกที่ "พี่มากพระโขนง" ซึ่งนำตำนานของแม่นาคมาถ่ายทอดในอีกมุมมองจะได้รับความสนใจจากผู้ที่เคยได้ยินเรื่องราวของแม่นาคมาก่อน และการเปลี่ยนชื่อเรื่องจาก​"แม่นาค" เป็น "พี่มาก" ย่อมดึงดูดความสนใจและสร้างความคาดหวังในตัวเรื่องมากขึ้น

ช่วงเวลาเข้าฉายของพี่มากฯ เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เหมาะเจาะกับที่ไม่มีภาพยนตร์เฮฮาคลายเคลียดเรื่องอื่นทั้งไทยและเทศเข้าฉาย ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา นอกจากภาพยนตร์แนวรักวัยรุ่น และภาพยนตร์บู๊ล้างผลาญแล้ว แทบจะยังไม่มีภาพยนตร์ตลกที่ทำเบาสมองเข้าฉายเลย การที่พี่มากฯมาเข้าฉายช่วงปลายเดือนมีนาฯ ยังเป็นช่วงที่ "ไร้คู่แข่ง" นอกจากจะเป็นช่วงที่คนกำลังต้องการดูอะไรที่ผ่อนคลายความเครียดแล้ว ยังเป็นช่วงที่กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่อยู่ในช่วงปิดเทอม ทั้งมัธยมฯและมหาวิทยาลัย บวกกับความนิยมของชาวไทยที่ชอบดูสิ่งนันทนาการแนวตลกเบาสมอง พี่มากฯ จึงเป็นทางเลือกหมายเลขหนึ่งสำหรับคนที่กำลังมองหาภาพยนตร์เข้าใหม่ในช่วงนี้ 



อีกทั้งในทศวรรษ2010นี้ พระเอกหนุ่มลูกครึ่งไทย-เยอรมันอย่าง"มาริโอ้ เมาเร่อ"ได้เป็นพระเอกในอันดับต้นๆของวงการภาพยนตร์ไทยไปแล้ว ใน1ปี จะต้องมีภาพยนตร์ที่หนุ่มโอ้นำแสดงเข้าฉายไม่ต่ำกว่า2เรื่อง ที่ผ่านมาภาพยนตร์ที่เขาแสดงต่างประสบความสำเร็จอย่างสวยงามหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น "รักแห่งสยาม" "สิ่งเล็กๆที่เรียกว่า...รัก" และ "จัน ดารา" แถมกลุ่มแฟนคลับของนายมาริโอ้เองก็ไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ ทางด้านนางเอกสุดสวยอย่าง "ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่" ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น อีกทั้งเป็นช่วงที่สาวใหม่กำลังงานชุก แม้จะมีข่าวไม่เว้นแต่ละวัน แต่สาวใหม่ก็ยังมีผู้ติดตามชื่นชอบมากมาย ตัวพระนางคู่นี้จึงเป็นหนึ่งแรงดึงดูดผู้ชมในการซื้อตั๋วเข้าชม


นอกจากเนื้อหาในเรื่องจะมีมุขมากมายที่ถูกใจคนดูแล้ว หนังยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนไทย ไม่เพียงแค่เป็นการเรื่องเก่ามาเล่าใหม่อย่างไม่น่าเบื่อ แต่ยังเป็นการเอาเรื่องเก่ามาเล่าในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และตอนจบของเรื่องยังถูกใจคนไทยส่วนใหญ่ที่ชอบเรื่องราวที่จบแบบมีความสุข


หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาด ถึงขนาดมีผู้ที่ดูแล้วเลือกเข้าไปดูหนังอีกหลายรอบ และยังมีผู้ที่นานนานครั้งจะเข้าโรงภาพยนตร์ หลังจากได้ยินคำนิยมจากนักวิจารณ์และนักดูหนังหลายๆคน พี่มากฯจึงเป็นสิ่งที่ตัดสินใจให้ผู้ชมเข้าไปชม และเป็นตัวอธิบายว่า ทำไมหนังเรื่องนี้เข้าโรงมากว่า2สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังมีผู้ชมเข้าไปนั่งดูอยู่เต็มโรง เหตุผลเล็กๆอีกเรื่อง (เขียนเมื่อวันที่8เม.ษ 56)





ป.ล ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ParaNorman..แม่มดก็ไม่อยากถูกล่านะ


หนึ่งในภาพยนตร์การ์ตูนที่เข้าชิงOscarsปี2013ในสาขาแอนนิเมชั่นยอดเยี่ยม และเข้าชิงรางวัลบนเวทีอื่นๆอีกมากมาย ถึงแม้ว่าจะไม่โดดเด่นเท่ากับแอนนิเมชั่นอย่างBrave และ Wreck it ralph จากค่ายใหญ่อย่างWalt Disney แต่อีกเรืื่องที่มีเนื้อหาน่าสนใจและน่าเอามาพูดถึงกันคือ Paranorman ภาพยนตร์แอนนิเมชั่นแนวสยองขวัญจากFocus Pictures เพราะแอนนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การ์ตูนสำหรับเด็ก แต่เป็นการนำประเด็นความรุนแรงในสังคมยุโรปยุคมืดมาพูดถึงอย่างน่าสนใจ

'Paranorman' ของ Chris Butler เลือกหยิบประเด็น 'การล่าแม่มด' ที่เป็นเรื่องฉาวในสังคมยุโรปยุคกลางมาพูดถึงสังคมในยุคปัจจุบัน


ความเชื่อเรื่อง'การล่าแม่มด' เกิดขึ้นในปีช่วงของยุโรปยุคกลาง หรือในช่วงยุคมืดที่โป๊บยังคงมีอำนาจสูงสุดในการครอบงำประชาชน การล่าแม่มดก็มาจากคำสอนของโป๊บนั่นเอง มีความเชื่อที่ว่า "แม่มดนั้นเป็นบุคคลอันตราย เป็นผู้รับใช้ซาตาน มีจุดหมายเพือทำลายความดีงามของศาสนา และล่อลวงวิญญาณมนุษย์สู่ขุมนรก" ทำให้ในยุคนั้นสังคมยุโรปเต็มไปด้วยโรคระบาดและภัยธรรมชาติมากมายโดยฝีมือแม่มด

โดยแม่มดที่ว่าจะแฝงตัวมาเป็นผู้หญิง การสังเกตว่าใครคือแม่มดนั้นช่างง่าย เพียงสังเกตกับรูปลักษณ์ภายนอกของผู้หญิง คนที่ดูผิดปกติกว่าคนทั่วไป เช่นสวยเกินไป ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด บ้างก็เป็นกลุ่มหญิงชรา การกำจัดแม่มดจึงเป็นธรรมเนียมทางศาสนาที่ได้รับการเชื่อถือว่าสามารถขจัดภัยออกไปจากคริสตจักรในยุคนั้นได้ ด้วยประโยคที่ว่า "สูเจ้าต้องไม่ทรมานแม่มดด้วยการปล่อยให้มีชีวิต" โดยใครที่ถูกตัดสินว่าเป็นแม่มดจะถูกลงโทษจากศาลเตี้ย ให้นำตัวมาทรมานด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตกเล็บ แขวนประจาน ฯลฯ ที่ทำให้แม่มดได้รับความทรมานสูงสุดจนต้องยอมรับว่าตนคือแม่มด จากนั้นเหยื่อแม่มดจะถูกนำตัวไปเผาทั้งเป็นเพราะเชื่อว่านี่คือการปลดปล่อยแม่มดออกจากบ่วงที่หลุดไม่พ้น และยังเป็นการขจัดภัยร้ายออกจากสังคมของชาวคริสต์อีกด้วย ทำให้ในช่วงยุโรปยุคมืดมีผู้หญิงเป็นเหยื่อของคำว่า'แม่มด'ไปกว่าปีละ300คน ซึ่งในยุคต่อมาความเชื่อเรื่องการล่าแม่มดได้ลดน้อยลง และถูกต่อต้านจากคนทั่วไปมากขึ้นจนหายไปในที่สุด และคำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆถูกแทนที่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

แม้ว่าในศตวรรษที่ 20 ความเชื่อเรื่องการล่าแม่มดจะสาบสูญไปแล้ว เหลือเพียงเรื่องเล่าที่เป็นนิทานสำหรับเด็กเท่านั้น แต่วัฒนธรรมการล่าแม่มดได้ปรับเปลี่ยนไปอยู่บนโลกไซเบอร์แทน กล่าวคือ ไม่ได้มีการล่าแม่มดตามความเชื่องมงายอีกต่อไป แต่ยังคงมีการตามรุมประณามผู้ที่ปฏิบัติตัวหรือมีความเห็นต่างไปในสังคม ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า'การล่า' คือการที่มีคนโพสด่าว่าผู้นั้นบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก บ้างตั้งกลุ่มต่อต้าน ซึ่งอาจเป็นไปในด้านการเมือง หรือการไม่เห็นด้วยในวัฒนธรรม และการปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างเสียมาก
ขอขอบคุณ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ ที่ให้ความรู้ในเรื่องการล่าแม่มดในวิชาเรียนของผู้เขียน



ดังนั้น Paranorman จึงหยิบเรื่องราวของประเพณีที่โหดเหี้ยมนี้มาดัดแปลงเข้ากับยุคปัจจุบัน เรื่องราวของ "Norman" เด็กชายที่มีความสามารถพิเศษในการเห็นวิญญาณ ไม่มีใครสามารถเห็นวิญญาณได้ด้วยตาเปล่าทั้งๆที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่บนสังคมเดียวกับมนุษย์ธรรมดา ด้วยความสามารถพิเศษของNormanนี่แหละ ทำให้คนทั่วไปมองว่าNormanเป็นเด็กประหลาดทั้งเพื่อนที่โรงเรียนที่มาล้อเลียนเขาและเขียนบนตู้ล็อกเกอร์ของเขาทุกวัน ไม้เว้นแม้แต่ครอบครัวของเขาเอง ทั้งพ่อ แม่ และพี่สาว ที่ไม่เชื่อว่าเขาสามารถสื่อสารกับคุณย่าที่เสียชีวิตไปแล้วได้ เขาจึงไม่เพื่อนแม้แต่คนเดียว นอกจาก "Neil" เพื่อนตัวอ้วนของเขาที่สามารถมองข้ามความแปลกของเด็กชายตาทิพย์คนนี้ได้

เรื่องราวไม่น่ามีอะไรประหลาดหากคุณลุงของNorman "Mr. Prenderghast" บุคคลที่ถูกชาวบ้านมองว่าเป็นตัวประหลาด เสียสติ ไม่มาทักทายหลานชายให้ช่วยสืบสานหน้าที่การอ่านนิทานกล่อมแม่มดในป่าของเขาก่อนที่เขาจะตายจาก หนุ่มน้อยNormanจึงต้องทำหน้าที่แทนคุณลุงเจ้าปัญหา แต่เรื่องราวที่น่าจะจบลงด้วยดีหลังจากเขาอ่านนิทานจบกลับไม่เป็นเช่นนั้น เขาดันเข้าไปในป่าผิดแห่ง ทำให้กลุ่มผีดิบคืนชีพขึ้นมา สร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้าน ต้องหาทางกำจัดเจ้าตัวที่ทำลายความสงบสุขในชุมชนออกไปซะ

สุดท้าย Norman ค้นพบว่า แม่มดที่ว่านั้นคือ เด็กผู้หญิงตัวน้อยวัยเดียวกับเขา ที่ถูกศาลเตี้ยตัดสินว่าเป็นแม่มดในสมัยก่อนที่ยังมีการล่าแม่มดอยู่ ไม่ว่าเด็กน้อยจะพยายามแก้ตัวเช่นไรก็ไม่เป็นผล เธอจึงถูกนำตัวไปฆ่าอย่างน่าสงสาร ความแค้นที่เธอมีต่อกลุ่มคนเหล่านี้ก่อนตายหมายจะมาแก้แค้นแม้ว่าจะตายไปแล้ว ทำให้กลุ่มคนที่มีตาทิพย์จำต้องทำมนต์สกัดให้เธอหลับไหลทุกปี เพื่อไม่ให้สร้างความหายนะให้ชาวบ้าน ด้วยการอ่านนิทานในหนังสือต้องมนต์กล่อมให้เธอหลับ หน้าที่นี้ได้ส่งผ่านมือต่อมือมานับไม่ถ้วนจนถึงคุณลุงเพี้ยนและNorman

แต่Normanกลับเลือกทำสิ่งที่ต่างออกไปจากการสืบทอดผู้อ่านนิทาน เขาเห็นถึงความอยุติธรรมของศาลเตี้ย พวกเขาคิดไปเองหรือเปล่าว่า คนที่แปลกจากพวกเขานั้นเป็นภัย หากมองให้ดีๆ ทั้งแม่มดน้อยและกลุ่มผีดิบจำนวนมากที่ฟื้นขึ้นมาไม่ได้มีอันตรายใดใดเลย พวกเขามีความรู้สึกเช่นพวกเราทุกคน เพียงแค่พวกเขาอาจมีบางอย่างที่ไม่เหมือนคนจำนวนมาก เขาจึงเลือกที่จะทำความเข้าใจกับมนุษย์ที่ยังมีเลือดเนื้อก่อนที่จะช่วยปลดปล่อยพวกผีให้เป็นอิสระ

สิ่งที่หนังเด็กที่ไม่ใช่แค่หนังเด็กอยากตั้งคำถามถึงสังคมตอนนี้คือ การล่าแม่มด หรือคนที่มีความแปลก ประหลาดในสังคมตั้งแต่ในอดีตจนถึงทุกวันนี้ ต้นเหตุมาจากพวกเขาหรือว่าเป็นพวกเราเองที่สร้างความกลัวขึ้นมา แต่สุดท้ายความกลัวที่สร้างขึ้นมานั้นไปตกอยู่ที่เหยื่อที่ถูกตัดสินว่าเป็นแม่มด

หากสังเกตดูจากที่ตัวหนังสื่อในฉากเปิดเรื่องที่ Norman กำลังนั่งดูการ์ตูนเกี่ยวกับผีซอมบี้ตามล่ากินสมองผู้หญิงคนหนึ่งอย่างน่ากลัว หากดูในฉากนั้นจะรู้สึกได้ว่า หนังที่ Norman กำลังดูนั้นน่ากลัวมากกว่า Paranorman ทั้งเรื่องเสียอีก หรือนี่คือสิ่งที่เราสั่งสมกันมาตั้งแต่ยังเด็กว่า คำว่า "ผี" "ซอมบี้"เป็นสิ่งที่น่ากลัว เขาจะมาฆ่าเรา ทำให้เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความลี้ลับ จึงมักเป็นเรื่องน่ากลัวขึ้น ทั้งๆที่แต่ก่อนพวกเขาก็เคยมีชีวิตอย่างเราๆนี่เอง ซึ่งสักวันหนึ่งสิ่งมีชีวิตทุกอย่างก็อาจกลายเป็นหนึ่งในพวกเขาเช่นกัน หากพวกเราอยู่ร่วมกันอย่างสงบคงไม่มีเรื่องราวที่น่าสลดใจเกิดขึ้น
นอกจากกลุ่มซอมบี้แล้ว หนังยังแสดงให้เห็นถึงกำแพงกั้นระหว่างความคิดของผู้คนที่ไม่ยอมรับในสิ่งที่แปลกไปจากตน ทั้ง Norman และ Mr. Prenderghast ที่เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่กลับถูกต่อต้านจากสังคม

โดยรวมแล้ว Paranorman เป็นภาพยนตร์ที่ผู้เขียนชอบมากทีเดียว เพราะเนื้อหาและประเด็นมีความหนักแน่นพอที่จะสื่อถึงปัญหาที่ยังคงเรื้อรังในสังคมโลกมาช้านาน หากมีคนอย่างเจ้าหนู Norman สักคน โลกนี้คงน่าอยู่มากขึ้นอีกมากทีเดียว


เพิ่มเติม
นอกจาก Paranorman แล้ว ภาพยนตร์แอนนิเมชั่นที่พูดถึงความไม่ยอมรับในความแตกต่างและการสร้างความหวาดกลัวนั้น ในปี 2012 ยังมีอีกเรื่องหนึ่งจาก Columbia Picture นั่นคือ 

Hotel Transylvania เรื่องราวของโรงแรมผีที่มีเจ้าของเป็นแวมไพร์ สาเหตุที่เกิดโรงแรมนี้ขึ้น เป็นเพราะ "Dracula" ตัวเอกของเรื่องไปรักกับหญิงสาวมนุษย์ จนเกิด "Mavis" ลูกสาวครึ่งคนครึ่งค้างคาวขึ้น แต่ชาวบ้านในละแวกนั้นกลับหวาดระแวง มองว่าพวกเขาจะนำความหายนะมาสู่หมู่บ้าน จึงทำให้ชีวิตพวกเขาต้องมาเปิดโรงแรมกลางป่าลึกที่มนุษย์ยากจะเข้าถึง ที่นี่จึงกลายเป็นศูนย์รวมผีนานาชนิดที่ชาวบ้านหวาดกลัว ไม่ว่าจะเป็น Frankenstein หรือ Mummy และอีกมากมาย

สิ่งที่ต่างออกไปจากเดิมคือ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความกลัวในผีดูดเลือดและผี ปีศาจเริ่มลดน้อยลง เมื่อพวกเขาเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านในอีกหลายร้อยปีให้หลัง กลับพบว่าพวกเขากลายเป็นพระเอกของงาน เด็กหลายคนแต่งตัวเป็นพวกเขา มีพวกเขาเป็นฮีโร่ในใจ





ป.ล ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

Life of Pi ด้วยความเชื่อและศรัทธา


























ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องใหม่ของหลี่อัน(อั้งลี่) ผู้กำกับสายเลือดเอเชียคนแรกที่ได้ออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Brokeback Mountain

"ฟิน" เป็นคำที่ได้ยินมานานจากเพื่อนหลายๆคนที่ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ จากที่เคยดูผลงานก่อนๆของหลี่อัน จึงรู้สึกได้ว่าเพื่อที่จะผ่านปี2012ไปอย่างสมบูรณ์แบบ ต้องตีตั๋วเข้าไปดูLife Of Piเสียก่อน 

คราวนี้หลี่อันนำเสนอLife of Pi จากนวนิยายของ Yaan Martel เรื่องราวของชายชาวอินเดียที่ผ่านช่วงวัยรุ่นมาด้วยการติดเกาะกับเสือเบงกอลที่ไม่เคยมองว่าถูกชะตากันมาก่อน

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นคำบอกเล่าของPi ชายชาวอินเดียผู้ต้องการให้นักเขียนอเมริกันเขียนเรื่องราวของเขา เขาจึงเริ่มเล่าความทรงจำที่ไม่อาจลืมได้ของเขาให้ฟัง
เริ่มตั้งแต่ที่เขายังเป็น "Piscine Patel" เด็กชายชาวอินเดียที่อาศัยอยู่กับพ่อ แม่ และพี่ชาย ครอบครัวPatelดูไม่แตกต่างไปจากครอบครัวอื่นๆในอินเดียเลย บ้านPatelทำกิจการสวนสัตว์ ชื่อPiscineที่มาจากชื่อสระน้ำในฝรั่งเศส แต่การออกเสียงดันไปพ้องกับคำว่า"Pissing" ที่แปลว่าปัสสาวะ เขาจึงถูกเพื่อนล้อมาตลอด หากเป็นเด็กธรรมดาคงจะอับอายแล้ววิ่งกลับบ้านไปฟ้องแม่ แต่Piscineไม่ทำเช่นนั้น เขาเลือกนำเสนอชื่อของเขาในรูปแบบที่น่าจดจำ โดยเอาอักษรสองตัวแรกมาตีความหมาย ซึ่งยึดหลักของความหมายทางคณิตศาสตร์ที่น่าพิศวง ตั้งแต่นั้นมาชื่อของเขาจึงถูกเรียกโดยย่อว่า"Pi"

สิ่งหนึ่งที่พายมีต่างจากคนทั่วไปคือการนับถือถึง3ศาสนา ได้แก่ คริสต์ อิสลาม และฮินดู แม้ทั้งสามจะมีพระเจ้าที่แตกต่างกันไป และมีพิธีกรรมของตนเอง แต่สิ่งที่ทุกศาสนาสอนเหมือนกัน นั่นคือ "สอนให้คนทำดี"

ชีวิตของPiมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อครอบครัวของเขาและเหล่าสัตว์ต้องย้ายสำมะโนครัวไปที่โทรอนโท พวกเขาเดินทางโดยเรือ ระหว่างทางพบพายุฝนจากนั้นเรือจึงอับปางลง ลูกเรือทั้งหมดรวมถึงครอบครัวของPiเสียชีวิต มีแค่Piที่ออกมาจากห้องนอนจึงเอาชีวิตรอดมาได้พร้อมเรือชูชีพและสัตว์เพียงไม่กี่ตัว ได้แก่ม้าลาย ไฮยีนา ลิงชิมแปนซี และเสือเบงกอล

แต่ผู้รอดชีวิตได้ถึงวันต่อมากลับมีแค่เขาที่เป็นมนุษย์และเสือเบงกอลที่มีนามว่า "Richard Parker"

การต้องติดอยู่บนเรือชูชีพท่ามกลางมหาสมุทรกับเสือที่ไม่ถูกชะตาด้วยมาตั้งแต่ต้นมันเป็นอะไรที่อึดอัดมาก เพราะมันพร้อมที่จะฆ่าเขาได้ทุกเมื่อ โชคยังดีที่เขามีคู่มือสอนเมื่อเรืออับปางคอยสอนถึงวิธีใช้ชีวิตทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่รอดมาได้
อุปสรรคเพียงอย่างเดียวนั่นคือ Richard Parker เจ้าเสือที่คอยขู่ทำร้ายเขาอยู่บนเรือนั่นแหละ ทำให้เขาต้องยกเรือให้กับRichard
ที่จริงเขาจะทิ้งมันลงน้ำแล้วเอาตะขอฟาดๆๆๆมันจนตายก็ย่อมได้ มีหลายครั้งที่เขาตั้งใจจะฆ่ามัน แต่บางอย่างในใจก็บอกเขาให้หยุดแล้วช่วยเหลือมันทุกครั้ง จนในที่สุดคนกับสัตว์ก็สื่อสารกันได้ PiกับRichardจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมทางกัน

หนังบอกเราถึงความกลัว ความกลัวว่าจะไม่รอด ความกลัวในสิ่งที่ยังไม่เจอ ความกลัวในความดุร้าย มันเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า "จะผ่านความกลัวได้จะต้องสู้ แล้วจะสู้หรือเปล่า?"

ไม่ว่าPiจะมีชีวิตรอดทุกวันได้เพราะไหวพริบของPiเอง หรือเป็นมือของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็นคอยช่วยเหลือPiในยามลำบาก ในหลายๆครั้งที่ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะไม่รอดชีวิตแล้วก็ตาม มันก็คงเป็นศรัทธาที่เราสร้างขึ้นเพื่อให้เราใช้กำจัดความกลัว จนสุดท้ายความกลัวนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป แต่กลับกลายมาเป็นเพื่อนกับเรา

ระหว่างทางบนมหาสมุทรที่กว้างใหญ่เขาได้พบกับสิ่งที่น่าทึ่งบนผืนน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปลาวาฬยักษ์ แมงกระพรุนสะท้อนแสง ฝูงปลาบินได้ และเกาะเมียร์แคท ที่ไม่อาจพบได้บนแผ่นดินธรรมดา ซึ่งเจ้าพวกนี้ก่อเป็นความหวังให้Piมีชีวิตอยู่ต่อไป สุดท้ายแล้วPiได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตบนแผ่นดินอีกครั้ง ในขณะที่เจ้าเสือเบงกอลที่กลายมาเป็นเพื่อนรักของเขาเดินหน้าเข้าป่าไปโดยที่เขาไม่เห็นอีกเลย

เมื่อเขากลับมาพักฟื้นที่โรงพยาบาลแล้ว นายทุนชาวญี่ปุ่นเดินทางมาพบเขาด้วยตัวเอง เพื่อต้องการทราบสาเหตุที่เรือจม ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ทราบเช่นกัน เขาเล่าเรื่องเดียวกันนี้ให้ชาวญี่ปุ่นฟัง ชาวญี่ปุ่นกลับไม่เชื่อเขา และบอกว่า นี่คือสิ่งที่Piจินตนาการขึ้นเอง Piจึงเล่าอีกเรื่องหนึ่งให้ฟัง โดยปรับเปลี่ยนตัวละครทั้งหมดเป็นคนและเนื้อหาของเรื่องอยู่บนเรียลลิสต์ติก แต่เรื่องที่เล่าใหม่นี้ก็ยังคงไม่ทราบสาเหตุที่เรือจมอยู่ดี

เพราะเรื่องแรกที่เต็มไปด้วยสัตว์ทั้งหลายมันดูเหลือเชื่อ ไม่น่าเกิดขึ้นได้ และPiยังเอาแต่ขอบคุณพระเจ้าเสียขนาดนั้น คนที่ไม่ได้เชื่อในพระเจ้าจึงดูไม่อยากจะเชื่อสักเท่าไหร่

แน่นอนว่าชาวญี่ปุ่นเชื่อเรื่องที่Piเล่าให้ฟังใหม่ ส่วนนักเขียนฝรั่งที่กำลังฟังPiเล่าอยู่นั้นกลับเลือกเรื่องแรกที่มีเสือ เราสามารถตีความเรื่องนี้ได้ว่า ความเชื่อใสเรื่องพระเจ้าของชาวตะวันตกและตะวันออกนั้นแตกต่างกัน ดูได้จากศาสนาประจำชาติและขนบที่ยึดถือมานานของทั้งคู่ ชาวญี่ปุ่นนั้นเชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่บนหลักของวิทยาศาสตร์และความเป็นไปได้ ส่วนชาวตะวันตกเชื่อว่าพระเจ้าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และช่วยเหลือในการดำเนินชีวิต ดูได้จากประโยคสุดทายที่Piพูดหลังจากถามนักเขียนฝรั่งว่าชอบเรื่องไหนมากกว่า ว่า "และเพราะว่าเรื่องนี้มีพระเจ้า"

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว เราไม่อาจทราบได้ว่า เรื่องที่Piเล่าเรื่องใดคือเรื่องจริง หรืออาจไม่จริงทั้งคู่ แต่สิ่งที่หนังยังบอกเราจนท้ายเรื่องคือ ชีวิตนี้อย่างไรก็มีทางออก ขอแค่ไม่หมดหวังและยังมีไว้ซึ่งศรัทธา

นอกจากเนื้อเรื่องที่สุดน่าทึ่งแล้ว สิ่งที่หลี่อันทำให้เราไม่เบื่อเลยตลอดสองชั่วโมงที่อยู่ในโรงหนังนั่นคือ ภาพซีจีสวยๆที่ประณีตผลิตออกมาให้เราได้ชมกัน ทั้งภาพปลาบินได้ แมงกระพรุนเรืองแสง ฯลฯ ต้องบอกว่า เรื่องนี้มีภาพประกอบสวยมากจริงๆ


ป.ล ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว