วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความคิดที่แตกต่างของเจ้าหญิงผมแดงกับพระราชินี


หากเอ่ยถึงตัวการ์ตูนแอนนิเมชั่นที่มีผมหยิกสีแดง ตัวการ์ตูนที่ทุกคนนึกถึงก่อนใครเพื่อนคงหนีไม่พ้นMeridaจากภาพยนตร์แอนนิเมชั่นต้นปี2012จากค่ายDisney Pixar ที่ได้รับรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลภาพยนตร์แอนนิเมชันยอดเยี่ยมจากเวทีใหญ่อย่างBAFTA Awards และ Golden Globe Awards

เรื่องราวของเจ้าหญิงMerida เจ้าหญิงจอมลุยผู้รักการยิงธนูที่มีความเห็นไม่ตรงกับพระมารดา Elinor(ต่อไปจะเรียกแทนว่า "แม่")อยู่เสมอๆ พระราชินีผู้รักความมีระเบียบ รักประเพณีเดิมๆ ไม่ชอบการประพฤตินอกกรอบ ตัวเจ้าหญิงผมแดงผู้รักการผจญภัย กับพระมารดาผู้รักความเรียบร้อยจึงไม่ค่อยลงรอยกันเท่าใดนัก 

เรื่องราวของทั้งคู่เดินมาถึงขั้นแตกหัก เมื่อMeridaถึงวัยที่ควรสมรสเสียที พระราชินีจึงจัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้เธอตามธรรมเนียม เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ 
ตามสไตล์ของหนังก็คงจะพอเดาได้ว่า Meridaไม่มีวันยอมทำตามอย่างแน่นอน เธอจึงทำทุกวิถีทางให้่แม่เปลี่ยนใจ 
โชคชะตาดูจะเริ่มเข้าข้าง เมื่อMeridaพบเข้ากับแม่มดแก่ที่มียาวิเศษสามารถทำให้แม่เปลี่ยนใจเลิกล้มการแต่งงานครั้งนี้ได้ 
แต่คราวนี้โชคชะตากลับเล่นตลก เมื่อแม่ของเธอไม่เพียงไม่เปลี่ยนใจแต่ยังดันกลายเป็นหมีตัวยักษ์ที่พูดอะไรไม่ได้สักคำ

ประโยคหนึ่งที่ยังจำได้ไม่ลืม คำพูดของแม่มดแก่ที่ว่า ทางเดียวที่จะแก้คำสาบได้คือ "สานสายใยที่ขาดวิ่น" แม่ก็จะกลับมาเป็นคนเช่นเดิม
"สายใย"นั้นคืออะไรกันแน่? ใช่การเย็บผ้าปักของครอบครัวที่ขาดให้เหมือนเดิมหรือไม่ จะทำอย่างไรให้แม่กลับมาเป็นเช่นเดิม หรืออีกทางปล่อยให้แม่เป็นหมีต่อไป เพื่อที่จะได้เป็นอิสระทำตามใจตนเองเสียที

แท้จริงแล้วสายใยที่แม่มดแก่ได้กล่าวไว้คือ ความผูกพันในครอบครัวที่ควรจะมีนั่นเอง แม้เธอจะเย็บผ้าที่ขาดจนเสร็จ รักษาภาพที่ขาดให้ดูดีดังเดิม แต่สายใยแห่งความรักก็ยังไม่กลับคืนมาอยู่ดี

เนื้อเรื่องBraveอาจไม่ดีเด่นและไม่สมบูรณ์แบบนัก ส่วนตัวคิดว่า การแต่งงานของMerida อาจดูไกลตัวเกินไป และความสำคัญของมอร์ดู เจ้าหมีตัวร้ายยังน้อยไปกว่าที่ควร แต่สิ่งเดียวที่หนักแน่นชัดเจนสำหรับ          หนังคือประเด็นของเรื่องที่สามารถนำมาปรับใช้ในสังคมปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม

ความขัดแย้งระหว่างMerida กับ Elinor นั้นเป็นความขัดแย้งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว มั่นใจได้เลยว่าหากสอบถามจาก100ครอบครัว จะต้องมีเกิน60ครอบครัวที่พ่อแม่กับลูกเคยทะเลาะกัน ทุกครอบครัวพ่อแม่คงจะมีมุมมองแตกต่างกับลูก อยากให้ลูกทำเช่นนั้นเช่นนี้ตามที่ได้วางแผนไว้ ส่วนลูกเองเข้าใจว่าในช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการอิสระ กำลังหาความเป็นตัวเอง ยิ่งเด็กสมัยใหม่คงไม่ต้องการให้ใครมาบังคับด้วยแล้ว จึงเกิดการหนีออกจากบ้าน อาการเก็บกด และอาการโรคจิตของเด็กนั่นเอง

ปัญหาครอบครัวนี้หากไม่รีบแก้ จะกลายเป็นมะเร็งเรื้อรังที่ไม่น่าเกิดขึ้นในสถาบันครอบครัวได้เลย หากคนในครอบครัวหันหน้าเข้าหากัน ลดทิฐิลงบ้างเสียนิด ครอบครัวคงจะมีความสุข


Braveเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงปัญหาครอบครัวที่ได้กล่าวมาอย่างชัดเจน เนื้อหาที่แสดงออกในรูปแบบการ์ตูนย่อมสื่อสารกับเด็กๆได้ดีกว่าการสั่งสอนแบบดุด่าว่ากล่าว ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว แม่ของMeridaไม่ได้รักเธอน้อยลงไปเลย แต่เป็นเพียงความรักและความหวังดีที่แสดงออกได้ไม่ดีนัก

ถ้าหากถามพ่อแม่ทุกคนว่า การสั่งและการบังคับที่กระทำกับลูกนั้นหวังดีหรือร้าย รักหรือเกลียด? คงจะได้คำตอบมาในทางที่ตรงข้ามกับการกระทำแน่นอน 


ป.ล ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันหยุดที่ผ่อนคลายจากThe Holiday?



ย้อนกลับไปในปี2006 ภาพยนตร์จากฝีมือผู้กำกับชื่อดังNancy Meyers ถูกเผยสู่สายตานักดูหนัง แม้จะไม่ใช่หนังที่ได้ยินว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีนัก ภาพยนตร์เกี่ยวกับการหนีจากโลกแห่งความจริงของหญิงสาวเพื่อไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าในช่วงเวลาวันหยุดของพวกเธอ

หลังจากที่่่Amanda นักตัดต่อตัวอย่างหนังในLos Angeles และIris นักคอลัมน์สังคมใน London ทั้งคู่ผิดหวังจากชีวิตความรัก ในช่วงวันหยุดพวกเธอจึงเลือกหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย และเลือกการเป็นหุ้นส่วนแลกเปลี่ยนบ้านกันสองอาทิตย์

ทั้งคู่คาดหวังว่า การแลกเปลี่ยนบ้านกันในครั้งนี้ จะทำให้พวกเธอลืมความรู้สึกซีเรียสในช่วงที่ผ่านมาไปได้ แต่สิ่งที่คาดหวังก็ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป แต่เดิมAmandaมีความคิดที่จะเดินทางมายังเมืองที่ไร้ผู้ชาย แต่มามาถึงยังกระท่อมของIris  เธอกลับพบกับGraham พี่ชายของIrisที่อาศัยอยู่กับเธอ

ส่วนIris เธอต้องการหลีกหนีจากความเสียใจที่่ได้รับจากเพื่อนชายที่หนีเธอไปหมั้น หลังจากที่ย้ายเข้ามาอยู่บ้านของAmandaได้เพียงวันเดียว เธอก็พบกับMiles เพื่อนบ้านของ Amanda

หลังจากที่ทำสัญญาแลกบ้านแล้ว หญิงสาวทั้งคู่พบว่า ในช่วง2สัปดาห์ืที่ได้อยู่ในบ้านของอีกฝ่าย มีสิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนช่วยให้ชีวิตของพวกเธอมีความสุขมากขึ้น

สิ่งที่Amandaพบ ไม่เพียงแค่ความรักครั้งใหม่ที่เกิดกับGrahamเท่านั้น เธอมาค้นพบภายหลังว่า เธอรู้จักGrahamเพียงครึ่งเดียว แท้จริงแล้ว Graham เป็นพ่อม่ายลูกติด เขามีลูกแล้วถึงสองคน ระหว่างเธอกับเขา ยังมีช่องว่างทีในเรื่องของครอบครัวที่แตกต่างกัน ทำให้เธอกับเขาต้องห่างกัน
ส่วนIrisดูจะพบชีวิตใหม่ในละแวกบ้านของAmanda นอกจากMilesแล้ว ยังมีผู้สูงอายุที่เธอเจอโดยบังเอิญ  เธอได้โอกาสในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ถูกเปิดโลกใหม่ในสิ่งที่เธอไม่เคยทำ เธอสามารถปฏิเสธชายคนรักที่เห็นค่าเธอเป็นเพียงคนใช้ บ้านหลังใหม่ในระยะเวลาสั้นๆที่เธออยู่ ทำให้เธอเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิต

บทของหนังดูให้ความสำคัญกับบทบาทของAmandaมากกว่าIris หลังจากที่Amandaผิดหวัง เธอคิดได้ว่าเธอจะไม่ยอมแพ้กับGraham เธอเลือกที่จะกลับไปเผชิญหน้ากับเขาและลูกสาวอีกครั้ง ในครั้งนี้เธอพบว่า เธอได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากลูกสาวทั้งคู่ของGraham ไม่เพียงเท่านี้ บ้านหลังนี้ยังมีที่ว่างสำหรับเธอรอให้เธอมาเติมเต็ม 

สิ่งที่หนังต้องการคือความผ่อนคลาย ความสนุก ชื่อเรื่องของหนังเรื่องนี้คือ "The Holiday" ซึ่งหมายความว่า วันหยุด การพักผ่อน แม้เนื้อหาโดยรวมของหนังจะเป็นเรื่ีองของการหยุดพักของสองนางเอกก็ตาม หากมองดูที่ความสนุกของเรื่อง คงพูดได้ว่า หนังไม่สนุกเต็มขั้นเสียทีเดียว หลายฉากค่อนข้างเป็นเรื่องเครียดไม่แสดงถึงการผ่อนคลายเท่าใด 

พูดได้ว่า อาจคิดผิดหากใครที่ต้องการดูThe Holiday แล้วได้รับความอิ่มเอิบใจจากความน่ารักของหนัง


ป.ล ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

The Notebook รักแท้เกิดขึ้นที่หัวใจ




เมื่อไม่นานที่ผ่านมา โฆษณาของไทยประกันชีวิต เนื้อเรื่องเกี่ยวกับหญิงชราที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ เธอจำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น อยู่อย่างหลงๆลืมๆไปทุดวัน แต่ชายชราอีกคนก็ไม่ได้ทิ้งเธอไปไหน เขากล่าวว่า "คุณจำผมไม่ได้ แต่ผมจำคุณได้" เขาจำทุกเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวเธอได้และคอยดูแลเธอทุกวัน ทั้งจำว่าเธอชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เปิดเพลงที่เธอชอบระหว่างทานอาหาร เก็บของทุกอย่างให้เป็นระเบียบ ถึงอย่างไรเธอก็จำเขาไม่ได้อยู่ดีแต่เขาก็ไม่จากเธอไปไหน


โฆษณาของไทยประกันชีวิตทำให้นึกถึง "The Notebook" ภาพยนตร์จากNew Line Cinema ในปี2004 เรื่องของหญิงชราเป็นอัลไซเมอร์ที่แม้ว่าเธอจะความจำสั้น แต่เธอยังคงได้รับความรักจากชายที่รักเธอเช่นเดียวกัน 

ก่อนหน้านี้ได้ยินเรื่องNotebookมานาน หนังที่อยู่ในความทรงจำของวัยรุ่นมากว่า8ปี จากนิยายรักวัยรุ่นแสนจากฝีมือนักเขียนนิยายโรแมนติกNicholas Sparksที่มีผลงานโด่งดังมากมาย เช่น A walk to remember, The Last Song, Dear John คงเดาได้จากสไตล์การเขียนของSparksเลยว่าตอนจบจะต้องซึ้งใจและไม่สมหวังอย่างในเทพนิยายแน่นอน


หญิงชราผู้โดดเดี่ยวต้องอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลด้วยโรคอัลไซเมอร์ ทุกทุกวันชายชราจะอ่านเรื่องราวของพวกเขาจากสมุดบันทึกให้เธอฟัง เรื่องราวจากสมุดนั้นคือเรื่องราวสมัยที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น ช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มทำความรู้จักกัน Noah(Ryan Gosling) ชายหนุ่มธรรมดาที่หลงรักAllie (Rachel McAdams) คุณหนูสุดสวยที่เจอบนชิงช้าสวรรค์ เขาขอเธอไปเดทและทำสิ่งต่างๆที่เธอไม่เคยทำ โดยเฉพาะ การนอนกลางถนนที่ว่างเปล่า มองดูสัญญาไฟที่เปลี่ยนไปจากแดงเป็นเขียว จนทั้งคู่สนิทกันจนกลายเป็นคนรัก

แต่ความสุขก็ต้องมาถึงจุดจบ เมื่อที่บ้านของเธอไม่ชอบNoah ประกอบกับเมื่อเธอทะเลาะกับNoahจนเรียกได้ว่าถึงขั้นแตกหัก เป็นเวลาที่Allieกับครอบครัวต้องย้ายไปอาศัยที่บ้านหลังใหม่ แม้ว่าเวลานี้ทั้งคู่จะอยู่ห่างไกลซึ่งกันและกัน แต่หัวใจนั้นไม่เคยห่างไกลกันเลย เธอยังรอคอยให้เขาเขียนจดหมายมาหาเธอบ้าง น่าเสียดายที่เธอต้องรอคอยทุกครั้งไป ตลอดเวลาหนึ่งปีที่เธอย้ายบ้านไป Noahเขียนจดหมายทั้งหมด365ฉบับส่งไปให้เธอ แต่ทันทีที่จดหมายถูกส่งมาที่บ้านของAllieมันจะถูกแม่ของAliieเก็บไปทุกครั้ง ทั้งNoahและAllieจึงถอดใจที่จะโหยหาความรักของตน Noahเข้าสู่เส้นทางการรับใช้ชาติ เดินทางเป็นทหารไปทำสงคราม ส่วนAllieเป็นพยาบาลเพื่อรักษาทหารที่บาดเจ็บ ที่นี่เอง เธอได้พบกับLon (James Marsden) ทหารหนุ่มแสนดีมีฐานะที่รักเธออย่างจริงใจ ตลอดเวลาที่AllieคบกับLonเธอไม่เคยลืมNoahเลย ส่วนNoahเลือกที่จะลืมความทรงจำเก่าที่มีกับAllieออกไป โดยการปรับปรุงบ้านขึ้นมาใหม่ แต่เขาก็ไม่สามารถลืมได้จริงๆเสียที เมื่อไหร่ที่มีคนเสนอราคาดีเพื่อที่จะซื้อบ้านของเขา เขาไม่เคยตอบรับทุกครั้งไป



7ปีผ่านไป Allieเลือกที่จะแต่งงานกับLon ก่อนแต่งงานเธอกลับมายังบ้านที่เธอมีความทรงจำกับNoah จนทั้งคู่ได้เจอกันอีกครั้ง พวกเขาจึงรู้ตัวว่า ทำอย่างไรก็ไม่สามารถลืมกันและกันไปได้จึงแอบพบกันอย่างลับๆ ท้ายที่สุดครอบครัวของAllieก็รู้เข้า Lonอยากให้Allieได้อยู่กับคนที่เธอรักจึงเป็นฝ่ายจากไป


ส่วนAllieกลับมาหาชายที่เธอรักคนเดียวตลอดไป
ภาพในหนังตัดสลับระหว่่างอดีตกับปัจจุบัน Noahอ่านสมุดบันทึกของAllieที่เคยเขียนไว้ให้เธอฟัง เมื่อเรื่องราวดำเนินไปไกลเท่าใด Allieก็จะจำได้มากขึ้นเท่านั้น จนในที่สุดเธอก็จำเรื่องราวได้ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเขาทั้งคู่รักกันเพียงใด

แต่สมองเจ้าปัญหาของAllieก็ทำร้ายเธอทุกครั้ง หลังจากที่เธอจำเรื่องราวต่างๆได้เพียงไม่กี่นาที อาการอัลไซเมอร์ของเธอก็กำเริบอีกครั้ง เธอจำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างถูกรีเซ็ตเป็นศูนย์

ทุกวันคุณตาNoahไม่เคยยอมแพ้ เขาอ่านสมุดบันทึกของAllieเพื่อทำความรู้จักกับเธออีกครั้งถึงแม้ว่ามันจะเป็นช่วงสั้นๆก็ตาม เขาเชื่อว่าเมื่ออ่านแล้วAllieจะกลับมาหาเขาอีกครั้ง

ตอนจบของเรื่องAllieกลับมาหาเขาจริงๆ ครั้งนี้เขาทั้งคู่ขออยู่ด้วยกันและนอนจับมือกันโดยไม่ปล่อยมืออีกต่อไป


ภาพรวมของหนังเน้นไปที่ความโรแมนติกและความซึ้งใจตามสไตล์ของนิยาย
Nicholas Sparks ถ้าพูดตามเนื้อเรื่องถือว่าดี จากการเล่าเรื่องที่ค่อยๆบอกเราถึงเรื่องราวการไล่ตามความรักของพระเอกนางเอก ประกอบกับนางเอกในวัยชราที่ผ่านชีวิตที่มีความสุขค่อยๆฟื้นคืนความทรงจำมาทีละนิด เนื้อหาของเรื่องเป็นความโรแมนติกสไตล์ผู้หญิงที่น่าจดจำมากเรื่องหนึ่ง แต่จากที่ฉันได้ดูหนังเรื่องนี้จนจบยังไม่ได้ซึ้งใจถึงขึ้นตราตรึงได้เท่าที่เนื้อเรื่องต้องการ อย่างA Walk To Remember หรือ P.S I love you แต่ยังถือได้ว่าการลำดับเรื่องอยู่ในระดับที่ดีและน่าแนะเรื่องหนึ่ง




ป.ล ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Fight Club "Fight"ที่มากกว่าการต่อสู้





































หลังจากที่รู้จักเรื่องFight Clubจากเว็บไซต์IMDB ดูเป็นหนังที่มีกระแสวิจารณ์ที่ตัวบทและเนื้อหาค่อนข้างดี ประกอบกับที่เรื่องนี้เป็นผลงานจากนักแสดงมากฝีมืออย่างBrat Pittด้วยแล้วจึงไม่รอช้ารีบไปหาซื้อดูทันที

ตอนแรกที่เห็นชื่อกับโปสเตอร์ของหนังเลยคิดมาตลอดว่า เนื้อเรื่องคงเกี่ยวกับเรื่องราวความแอคชั่นสไตล์ฮอลลีวูด หรือไม่ก็เรื่องราวการต่อสู้เพื่ออะไรสักอย่างแน่นอน

แต่เนื้อเรื่องจริงของFight Clubนั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่คิดเลย เนื้อหามีความพลิกไปอีกด้านอย่างสิ้นเชิง พร้อมด้วยประเด็นหลักทางสังคม

ตัวเอกของเรื่องโดยEdward Norton ที่รับบทเป็นผุ้บรรยาย ชายผู้มีชีวิตเรียบง่ายและมองโลกในแง่ดี มีอาชีพขายสบู่ เขาเป็นโรคนอนไม่หลับ นอกจากนี้ตัวเขามักจินตนาการสิ่งที่เขาพบเจอในชีวิตประจำวันให้เป็นอยากให้เป็นเรื่องราวต่างๆนานา เช่น คิดอยากให้เครื่องบินที่โดยสารชนกันกลางอากาศ
ซึ่งบนเครื่องบนนี้เอง เขาพบกับTylor ชายหนุ่มที่น่าสนใจ เพียงเวลาแค่เที่ยวบินเดียวก็ทำให้เกิดหุ้นส่วนการตั้งFight Clubขึ้น

Fight Clubถูกก่อตั้งขึ้นในรูปแบบขององค์กรใต้ดิน ที่ให้คนธรรมดาที่พบกับความกดดันในช่วงกลางวันมาระบายโดยการเปิดฟลอร์ชกต่อยกันในยามค่ำคืน
กฎเหล็กของFight Club ที่เป็นสัญลักษณ์ของหนังเรื่องนี้มากว่า10ปี คือ

กฏข้อแรกของไฟท์คลับคือห้ามผู้ใดคุยเรื่องไฟท์คลับ กฏข้อที่สองของไฟท์คลับคือห้ามผู้ใดคุยเรื่องไฟท์คลับ

หมายถึงว่า ให้ทุกคนที่เข้าร่วมในคลับปิดปากเงียบไม่พูดถึงการเข้าร่วมสมาคมยามค่ำคืนนั่นเอง นานวันเข้าที่คลับก็มีสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ Tylorก็เริ่มคิดการใหญ่มากขึ้นทุกที ชักชวนให้สมาชิกในคลับเริ่มทำลายบ้านเมือง ปล้น โดยเฉพาะการวางแผนระเบิดตึกโดยใช้สบู่ทำระเบิด

เมื่อคลับเริ่มรุนแรงขึ้น ตัวเอกของเราก็เริ่มไม่เห็นด้วย คิดว่าTylorทำไม่ถูกต้อง เริ่มขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

ตั้งแต่เริ่มจนเรื่องดำเนินมาถึงตอนนี้ มีหลายฉากที่เราคิดว่าเราดูไม่รู้เรื่อง เราคิดว่าคงเพราะเราไม่ตั้งใจดูเลยพลาดการปะติดปะต่อเรื่องไป เราสงสัยว่าทำไมMarlaที่เป็นคนรักของTylor จึงยั่วยวนกับตัวเอกคนนี้ ยังมีการที่Tylorไม่ปรากฎตัวตอนกลางวัน

จนมาถึงกุญแจไขปมของเรื่อง ที่เรียกได้ว่าเป็นการพลิกล็อคจนอึ้งไปเลยทีเดียว


หนังมาเฉลยในตอนเกือบท้ายเรื่องว่าที่จริงแล้วทั้งTylorและEdward Nortonนั้นเป็นคนเดียวกัน ตัวเอกของเรื่องนั้นเป็นคนสองบุคลิกนั่นเอง ตัวเขาในช่วงกลางวันคือคนธรรมดาที่มีชีวิตตามปกติ ยอมรับวงเวียนแห่งชีวิต และทำงานตามหลักการของทุนนิยม แต่เมื่อตกกลางคืนเขาคุยกับตัวเองและสร้างภาพTylorในมุมมืดขึ้นมา ทำเรื่องต่างๆนานาตามที่จิตใต้สำนึกของตนเองคิด Marlaก็คือคนรักของเขา เขาร่วมรักกับเธอ และตั้งFight Clubขึ้น ที่ผ่านมาสิ่งต่างๆที่เขาทำร่วมกับTylor คือเขาทำมันเพียงคนเดียว

นี่เอง คือคำตอบที่ตอบข้อสงสัยในตอนต้นว่าทำไมเมื่อตื่นเช้าขึ้น Marlaจึงแสดงออกกับเขาเหมือนกับคนรัก และทำไมจู่ๆทำไมเขาจึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัยในการทำระเบิด และตอนที่ตำรวจโทรศัพท์มาที่บ้าน ทำไมตำรวจไม่ได้ยินเสียงของBrad PittคุยกับEdward Norton และที่สำคัญที่สุดคือ ทำไมตั้งแต่ต้นเรื่องเราจึงไม่เคยรู้ชื่อของตัวเอกของเราเลย

เรียกได้ว่าหนังเรื่องนี้ทำให้ช้อคไปได้พักหนึ่งเลยทีเดียว ทำให้เราต้องกลับมาคิดย้อนไปถึงเรื่องราวต่างๆตั้งแต่ต้นและนำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวอีกครั้งจึงจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด

นอกจากเรื่องของจิตวิทยาแล้ว David Fincher ยังแฝงเรื่องของระบบทุนนิยมที่เค้ามามีบทบาทในสังคมเข้ามาในหนังเรื่องนี้ด้วย
Tylorในภาคดาร์คแสดงออกถึงการตัดขาดจากโลกทุนนิยม ทั้งการอาศัยในบ้านโกโรโกโส ทั้งสกปรกและไม่มีกุญแจล็อกประตู แม้Tylorในภาคปกติจะเลือกใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริง แต่แท้จริงแล้วเขาไม่เห็นด้วยและพยายามทำลายสิ่งปลูกสร้างที่บ่งบอกถึงนายทุน พยายามทำลายเจ้านายที่กดขี่ลูกน้อง และส่งเสริมความมีอิสระภาพในการเลือกสาขาที่เรียนรวมถึงเสรีภาพของเยาวชน

โดยรวมแล้วถือว่าFight Clubเป็นหนังที่ดีมาก แม้การเล่าเรื่องจะทำให้คนดูงงในตอนแรก แต่เมื่อมาถึงไคลแมกซ์ของเรื่องก็คลายปมทุกอย่างได้อย่างชัดเจน และบอกถึงความเป็นจริงในสังคมทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยผู้มีอำนาจในสินทรัพย์ "สบู่"ที่เป็นส่วนประกอบในหนัง และเป็นส่วนหนึ่งในโปสเตอร์ของหนัง ชวนให้เราคิดกลับไปว่า เราใช้สบู่เพื่อชำระกาย ใช้สบู่เพื่อให้กายสะอาด ใช้สบู่ล้างมือเพื่อให้มือสะอาด แต่ความจริงแล้ว มันช่วยให้เรา "สะอาด" จริงหรือ?
คงปฎิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่Tylorแสดงออกหลังอาทิตย์ตกดินนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของมนุษย์ทุกคนที่เรียกร้องความเท่าเทียม

ดูหนังเรื่องคนสองบุคลิกแล้ว โยงให้นึกไปถึงหนังจิตยอดเยี่ยมของ Alfred Hitchcock "Psycho"ที่ยังตราตรึงอยู่จนทุกวันนี้

PsyCho 1960

ป.ล ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

The amazing Spiderman


Spider-Manหน้าหล่อ กับการรีบูธครั้งใหญ่

        ถึงจะช้าไปหน่อยกับการเขียนวิจารณ์หนังเรื่องนี้ กับการปัดฝุ่นสร้างภาพยนตร์ยอดฮิตของโซนี่ พิคเจอร์ จากที่ผู้เขียนได้หาข้อมูลมาจากเว็บไซต์sanook เพิ่งทราบว่าทางบริษัทมีสัญญาระหว่างmarvel บริษัทเจ้าของการ์ตูนคอมมิคสไปเดอร์แมนว่า จะต้องสร้างฮีโร่จอมชักใยขึ้นทุก5ปี ซึ่งหลักๆในตอนนี้คือ จาก3ภาคที่ผ่านมาความนิยมในตัวฮีโร่ตาข่ายไม่ลดลงเลย แต่การเขียนบทและวิธีการสร้างความน่าตื่นเต้นกลับเริ่มตันขึ้นทุกทีๆ ยิ่งในสไปเดอร์แมนภาคสุดท้ายจากฝีมือของแซม ไรมีได้รับเสียงวิจารณ์ไม่ค่อยสวยนัก อีกทั้งตัวผู้กำกับยังมีความคิดที่แตกต่างในเรื่องของตัวบท ทำให้แทนที่เราจะได้เห็นสไปเดอร์แมนในภาค4 กลับได้เห็นการรีบูธตัวเนื้อเรื่องทั้งหมด
     เริ่มด้วยนักแสดงชุดใหม่ที่มารับบทต่างๆใน The Amazing Spiderman ไม่ว่าจะเป็น Andrew Garfield พระเอกคนใหม่ที่แจ้งเกิดในบทของ Peter Parker แค่หน้าตาหล่อเหลาไร้ที่ติก็กินขาดให้คนดูซื้อตั๋วเข้าไปดูได้เป็นไหนๆ และ Emma Stone นักแสดงสาวไฟแรงที่กำลังเป็นที่จับตามองในฮอลลีวูดที่มารับบท Gwen Stacy ทั้งนี้ผู้เขียนชอบEmmaเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว จึงสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งเธอก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
    เรื่องราวจากฝีมือ Marc Webb เล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของPeter Parkerในการเป็นสไปเดอร์แมน ที่มีทั้งเรื่องราวอันลึกลับของครอบครัวเกี่ยวกับพ่อของเขา ความแค้นที่เห็นลุงที่รักตายต่อหน้าและรักแรกของเขากับGwen Stacy ตัวPeter Parker มีความกะล่อนมากขึ้นตามลักษณะจริงที่ปรากฎในการ์ตูน ในภาคนี้พ่อของPeterมีความลึกลับชวนให้น่าค้นหามากกว่าเวอร์ชั่นของSam Raimi ส่งผลให้หนุ่มน้อยพาร์คเกอร์ (ต่อไปนี้จะสะกดชื่อภาษาไทย)มีความสำคัญต่อการทดลองวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น
     Andrew Garfield มีใบหน้าที่หล่อเหลาแสดงความขี้เล่นและกล้าหาญไปพร้อมกัน โดยเฉพาะฉากที่ไอ้แมงมุมเข้าไปช่วยเหลือเด็กชายในรถ คำพูดกระตุ้นความกล้าของไอ้แมงมุมยังคงติดอยู่ในหัวถึงตอนนี้ บวกกับความเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวของนักแสดงหนุ่มหล่ออยู่แล้ว ภาคใหม่ของไอ้แมงมุมนี้จึงดูเหมาะสำหรับหนุ่มการ์ฟิลด์นี้อย่างไม่น่าเชื่อ
    ในเรื่องของความรักของพระนางในเรื่อง Marc Webbถ่ายทอดอารมณ์ให้คนดูได้อย่างน่ารัก ประกอบกับการแสดงที่มีเสน่ห์ของ Emma Stone ที่กลายเป็นผู้ช่วยให้พระเอกจัดการกับกิ้งก่าเขียวได้สำเร็จ 
   โดยรวมแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการเกิดใหม่ของไอ้แมงมุมยุคไฮเทคที่ดี แม้จะไม่ใช่ฝีมือของค่ายMarvel ก็ยังเป็นภาพยนตร์เกรดเอที่มีคุณภาพเรื่องหนึ่ง


ป.ล ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว